อันตรายของฟันคุดที่เราคาดไม่ถึง

ถอนฟันคุด

ว่ากันด้วยเรื่องของสุขภาพช่องปากของเราทุกๆ คนนั้น เป็นอะไรที่ต้องอาศัยการดูแลตนเองเป็นอย่างมากเลยก็ว่าได้ครับ หากดูแลไม่ดีก็จะทำให้เกิดปัญหาได้นั้นเอง วันนี้เราจะพาทุกๆ ท่านไปเรียนรู้เกี่ยวกับ “อันตรายของฟันคุดที่เราคาดไม่ถึง” ที่น่าสนใจและน่าจะต้องรู้กันไว้สักหน่อยครับ จะเป็นอย่างไรกันบ้างนั้น…เราไปชมกันดีกว่าครับ

รู้จักกับ “อาการฟันคุด” กันสักหน่อย

ฟันคุด หมายถึงฟันซี่ใดก็ตามที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติ อาจจะมีกระดูก เหงือกมาปิดขวาง หรือเอียงไปชนฟันข้างเคียง โดยฟันคุดมักจะพบที่ตำแหน่งฟันกรามซี่ในสุด หรือบางครั้งเกิดบริเวณตำแหน่งของฟันเขี้ยว บางคนปล่อยทิ้งไว้นานๆ สร้างอาการปวด และสร้างความรำคาญใจอยู่ตลอดเวลา หากไม่ตัดสินใจผ่าฟันคุดออก อาจเกิดปัญหาและเป็นอันตรายได้ ซึ่งช่วงอายุ 15-20 ปี เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการตรวจประเมินร่วมกับการเอกซเรย์ ว่ามีฟันกรามซี่สุดท้ายพัฒนาขึ้นในขากรรไกรหรือไม่ และมีแนวโน้มจะเป็นฟันคุดหรือไม่

อันตรายของฟันคุด

●เหงือกอักเสบ เพราะถ้ามีเศษอาหารเข้าไปติดอยู่ใต้เหงือก แล้วไม่สามารถทำความสะอาดได้ เชื้อแบคทีเรียที่มาสะสมอยู่จะทำให้เหงือกอักเสบ ปวดและบวมเป็นหนอง ถ้าทิ้งไว้จะลุกลามไป ใต้คาง หรือใต้ลิ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ ง่าย นับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

●ฟันผุ ซอกฟันระหว่างฟันคุดกับฟันกรามซี่ที่สองที่อยู่ชิดกันนั้น ทำความสะอาดได้ยาก เศษ อาหารจะติดค้างอยู่ทำให้เกิดฟันผุได้ทั้งสองซี่

●กระดูกขากรรไกรหัก เนื่องจากการที่มีฟันคุดฝังอยู่ จะทำให้กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นบาง กว่าตำแหน่งอื่น เกิดเป็นจุดอ่อน เมื่อได้รับอุบัติเหตุ หรือกระทบกระแทก กระดูกขากรรไกร บริเวณนั้นก็จะหักได้ง่าย

●มีโอกาสเกิดถุงน้ำหรือเนื้องอก ฟันคุดที่ทิ้งไว้นานไปเนื้อเยื่อที่หุ้มรอบฟันคุด อาจจะขยายใหญ่ขึ้นกลายเป็นถุงน้ำ แล้วโตขึ้นโดยไม่แสดงอาการเลย จนในที่สุดเกิดการทำลายฟันซี่ข้าง เคียง และกระดูกรอบ ๆ บริเวณนั้น

เราควรถอนฟันคุดตอนไหน?

ฟันคุดเป็นฟันที่มีเนื้อเยื่อและหรือกระดูกปิดขวางอยู่ ทันตแพทย์จึงไม่สามารถถอนฟันได้ตามปกติ จำเป็นต้องผ่าเหงือก ตัดกระดูก ตัดฟันออกทีละนิด เพื่อนำฟันคุดออก โดยไม่ส่งผลหรือเป็นอันตรายต่อฟันซี่ข้างเคียง หรือส่วนอื่นที่อยู่บริเวณนั้นๆ การผ่าตัดฟันคุดอาจใช้เวลานานกว่าถอนฟันตามปกติ ขึ้นกับลักษณะและตำแหน่งของฟันคุด รวมทั้งอายุของผู้ป่วย

การผ่าฟันคุดในช่วงที่ฟันกำลังมีการสร้างรากฟันเสร็จแล้วประมาณครึ่งรากหรือมากกว่านั้น แต่ยังสร้างรากไม่เสร็จสมบูรณ์ มักจะเป็นช่วงที่ผ่าได้ง่ายที่สุดของฟันกรามล่างที่สาม โดยช่วงอายุการเจริญของฟันขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละคน โดยมากจะเป็นช่วงอายุ 15-20 ปี ที่เหมาะที่สุด แต่หากมีอาการปวดหรือบวมของเหงือกก็สามารถเดินทางไปตรวจสุขภาพฟันและวางแผนถอดฟันคุดได้เลยเช่นกันครับ

การเตรียมตัวก่อนผ่าฟันคุดและข้อปฏิบัติหลังผ่า

ก่อนการผ่าฟันคุด รับประทานอาหารให้เรียบร้อยพออิ่มท้อง แปรงฟันและทำความสะอาดช่องปากให้พร้อมก่อนผ่าฟันคุด งดการสูบบุหรี่ งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะมีผลต่อการหยุดของเลือด และทำให้แผลผ่าฟันคุดอาจหายช้าได้ ดังนั้นควรปัฏิบัติอย่างเคร่งครัดกันนะครับ และเมื่อผ่าฟันคุดเรียบร้อยแล้วนั้น ทันตแพทย์จะให้กัดผ้าก๊อชไว้แน่นประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อห้ามเลือด ไม่แนะนำให้อมน้ำแข็ง แต่ให้ทำการประคบเย็น เอาน้ำแข็งใส่ถุงพลาสติกและห่อผ้ามาประคบแก้มด้านนอกบริเวณที่ผ่าฟันคุด ในช่วง 1-2 วันหลังจากผ่าฟันคุด  หลังจากนั้นให้ประคบอุ่น และทำตามคำแนะนำของทันตแพทย์ เช่น แปรงฟันตามปกติแต่ไม่แปรงฟันแรงๆ ตรงบริเวณที่ผ่า  รับประทานอาหารอ่อนๆ  รับประทานยาแก้ปวดและยาอื่นตามที่ทันตแพทย์สั่ง  และกลับมาติดตามอาการหรือตัดไหมตามนัดครับ

             เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับข้อมูลเกี่ยวกับ “อันตรายของฟันคุดที่เราคาดไม่ถึง” ที่เราได้นำมาฝากทุกๆ ท่านกันในบทความข้างต้นนี้กันครับ คิดว่าน่าจะเป็นความรู้ติดตัวที่ดีไม่มากก็น้อยกันน้า

You Might Also Like